วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่ละยุคสมัยอาจจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หลักฐานที่เป็นตัวหนังสือโดยมนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยขีดเขียนเป็นตัวหนังสือประเภทต่างๆ ในรูปของการจารึกในศิลาจารึกและการจารึกบนแผ่นโลหะ นอกจากนี้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรประเภทอื่น เช่น พงศาวดาร จดหมายเหตุ ตำนาน และกฎหมาย หลักฐานที่เป็นวัตถุ ได้แก่ วัตถุที่มนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัยได้สร้างขึ้น และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น โบราณสถาน ประกอบด้วย วัด เจดีย์ มณฑป และโบราณวัตถุ ประกอบด้วย พระพุทธรูป ถ้วยชามสังคโลก การแบ่งลำดับความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็น 2 ประเภท คือ หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ เป็นหลักฐานที่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นจริงๆ โดยมีการบันทึกของผู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยตรง หรือผู้ที่รู้เหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง ดังนั้นหลักฐานช่วงต้น จึงเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญและน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะบันทึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกไว้ เช่น จดมายเหตุ คำสัมภาษณ์ เอกสารทางราชการ บันทึกความทรงจำ กฎหมาย หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ สไลด์ วีดิทัศน์ แถบบันทึกเสียง โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุ หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ เป็นหลักฐานที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง โดยมีการเรียบเรียงขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของบทความทางวิชาการและหนังสือต่างๆ เช่น พงศาวดาร ตำนาน บันทึกคำบอกเล่า ผลงานทางการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับหลักฐานชั้นรองนั้นมีข้อดี คือ มีความสะดวกและง่ายในการศึกษาทำความเข้าใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลได้ผ่านการศึกษาค้นคว้า ตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์เหตุการณ์และอธิบายไว้อย่างเป็นระบบ โดยนักประวัติศาสตร์มาแล้ว ลักษณะสำคัญของหลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีอยู่หลายลักษณะ อาจแบ่งลักษณะสำคัญของหลักฐานออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. หลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร ได้แก่ 1.1 โบราณสถาน หมายถึง สิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ขนาดต่างๆกัน อยู่ติดกับ พื้นดินไม่อาจนำเคลื่อนที่ไปได้ เช่น กำแพงเมือง คูเมือง วัง วัด ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในวัด และวัง เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ และที่อยู่อาศัย การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณสถาน จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ตั้งของโบราณสถานนั้นๆ 1.2 โบราณวัตถุ หมายถึง สิ่งของโบราณที่มีลักษณะต่างๆกัน สามารถนำติดตัว เคลื่อนย้ายได้ ไม่ว่าสิ่งของนั้นๆ จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น หรือเป็น ส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน และสิ่งของที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นในสมัยประวัติศาสตร์ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป รูปเคารพต่างๆ เครื่องประดับ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ทางประวัติศาสตร์เสมอไป และสามารถไปศึกษาได้จากแหล่งรวบรวมทั้งของราชการ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ 2.1 จารึก ในแง่ของภาษาแล้วมีคำอยู่ 2 คำที่คล้ายคลึงและเกี่ยวกับข้องกัน คือ คำว่า จาร และจารึก คำว่า จาร แปลว่า เขียนอักษรด้วยเหล็กแหลมลงบนใบลาน คำว่า จารึก แปลว่า เขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นศิลาหรือโลหะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คำว่า จารึก หมายรวมถึง หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งใช้วิธีเขียนเป็นรอยลึก ถ้าเขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นหิน เรียกว่า ศิลาจารึก เช่น ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ถ้าเขียนลงบนวัสดุอื่นๆ เช่น แผ่นอิฐ เรียกว่า จารึกบนแผ่นอิฐ แผ่นดีบุก เรียกว่า จารึกบนแผ่นดีบุก และการจารึกบนใบลาน นอกจากนี้ยังมีการจารึกไว้บนปูชนียสถานและปูชนียวัตถุต่างๆ โดยเรียกไปตามลักษณะของจารึกปูชนียวัตถุสถานนั้นๆ เช่น จารึกบนฐานพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยลพบุรี จารึกบนฐานพระพุทธรูป วัดป่าข่อย จังหวัดลพบุรี ที่มาภาพ : http://pirun.kps.ku.ac.th/~b4927046/mon4_5_clip_image001_0000.jpg จารึกวัดโพธิ์ จังหวัดนครปฐม ที่มาภาพ : http://www.openbase.in.th/files/u10/monstudies035.jpg เรื่องราวที่จารึกไว้บนวัสดุต่างๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นเรื่องราวของพระมหากษัตริย์และศาสนา จารึกเหล่านี้มีทั้งที่เป็นตัวอักษร ภาษาไทย ภาษาขอม ภาษามอญ ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต จารึกที่ค้นพบในประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก เช่น จารึกสมัย ทวารวดี จารึกศรีวิชัย จารึกหริภุญชัย และจารึกสุโขทัย ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่มาภาพ http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/nongkhai/thanagorn_n/plan_history/image/pic1130704120859.jpg 2.2 เอกสารพื้นเมือง เอกสารพื้นเมืองนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สำคัญของประเทศไทย มักปรากฏในรูปหนังสือสมุดไทย และเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น ตำนาน พงศาวดาร จดหมายเหตุ ดังมีรายละเอียด ดังนี้ 1) ตำนาน เป็นเรื่องที่เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณจนหาจุดกำเนิดไม่ได้ แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นคนเล่าเรื่องราวเป็นคนแรก สิ่งที่พอจะรู้ได้ก็คือ มีการเล่าเรื่องสืบต่อกันมาเป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งมีผู้รู้หนังสือได้จดจำและบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาจึงมีการคัดลอกตำนานเหล่านั้นเป็นทอดๆไปหลายครั้ง หลายครา ทำให้เกิดมีข้อความคลาดเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เรื่องที่ปรากฏอยู่ในตำนานจึงอาจถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเรื่องเดิม เนื้อเรื่องของตำนาน ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองหรือชุมชนสมัยดั้งเดิมเกี่ยวกับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ หรือเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์ วีรบุรุษ โดยสามารถจัดประเภทของตำนานไทยได้ 3 ลักษณะ คือ 1.1) ตำนานในรูปของนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องพญากง พญาพาน ท้าวแสนปม 1.2) ตำนานในรูปของการบันทึกประวัติของพระพุทธศาสนา จุดมุ่งหมายเพื่อรักษาศรัทธา ความเชื่อ สัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เช่น ตำนานพระแก้วมรกต 1.3) ตำนานในรูปของการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ราชวงศ์ กษัตริย์ และเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสัตว์ในอดีต เช่น ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานจามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ 2) พงศาวดาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสให้ความหมายของพงศาวดารว่าหมายถึง เรื่องราวที่เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งสืบสันติวงศ์ลงมาถึงเวลาที่เขียนนั้น แต่ต่อมามีการกำหนดความหมายของพงศาวดารให้กว้างออกไปอีกว่าหมายถึง การบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับอาณาจักรและกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักร พงศาวดารจึงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจวบจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 4) สามารถจำแนกพงศาวดารได้ 2 ลักษณะคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษธิบดี (ขำ บุนนาค) อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลักฐานประเภทพงศาวดารจะมีข้อบกพร่องอยู่มาก แต่ก็เป็นหลักฐานที่มีประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ 3) จดหมายเหตุ ในสมัยโบราณจดหมายเหตุ หมายถึง การจดบันทึกข่าวคราวหรือเหตุการณ์เรื่องหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นในวัน เดือน ปีนั้นๆ แต่ในปัจจุบันนี้ความหมายของคำว่า จดหมายเหตุได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หมายถึง เอกสารทางราชการทั้งหมด เมื่อถึงสิ้นปีจะต้องนำชิ้นที่ไม่ใช้แล้วไปรวบรวมเก็บรักษาไว้ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ มีคุณค่าด้านการค้นคว้าอ้างอิงและเอกสารเหล่านี้ เมื่อมีอายุตั้งแต่ 25-50 ปีไปแล้วจึงเรียกว่า จดหมายเหตุหรือบรรณสาร การบันทึกจดหมายเหตุของไทยในสมัยโบราณ ส่วนมากบันทึกโดยผู้ที่รู้หนังสือและรู้ฤกษ์ยามดี โดยมีการบันทึกวัน เดือน ปี และฤกษ์ยามลงก่อนจึงจะจดเหตุการณ์ที่เห็นว่าสำคัญลงไว้ โดยมากจะจดในวัน เวลา ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น หรือในวัน เวลา ที่ใกล้เคียงกันกับที่ผู้จดบันทึกได้พบเห็นเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ เอกสารประเภทนี้จึงมักมีความถูกต้องในเรื่องวัน เดือน ปี มากกว่าหนังสืออื่นๆ เช่น จดหมายเหตุของหลวง เป็นจดหมายเหตุที่ทางฝ่ายบ้านเมืองได้บันทึกไว้เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และบ้านเมือง จดหมายเหตุโหร เป็นเอกสารที่เกิดขึ้นเนื่องจากโหรซึ่งเป็นผู้ที่รู้หนังสือและฤกษ์ยามจดไว้ตลอดทั้งปี และมีที่ว่างไว้สำหรับใช้จดหมายเหตุต่างๆ ลงในปฏิทินนั้น เหตุการณ์ที่โหรจดไว้ โดยมากเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับดวงดาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น